ค้นเจอ 138 รายการ

จิ้งจก

หมายถึงน. ชื่อสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กในวงศ์ Gekkonidae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับตุ๊กแก ในประเทศไทยมีหลายชนิด เช่น จิ้งจกบ้าน (Cosymbotus platyurus) ตีนเกาะติดผนังได้, จิ้งจกดินลายหินอ่อน (Cyrtodactylus peguensis) ตีนเกาะติดผนังไม่ได้, จิ้งจกบิน (Platyurus craspedotus) สามารถร่อนตัวไปในอากาศได้, พายัพเรียก จั๊กกิ้ม.

เป็ดน้ำ

หมายถึงน. ชื่อนกในวงศ์ Anatidae ซึ่งมีปากแบน ปลายมน ตีนเป็นพังผืด ว่ายนํ้าเก่ง กินพืชและสัตว์นํ้า บินได้เร็วมาก ตัวผู้มักจะมีขนสีสวยกว่าตัวเมีย มักอยู่เป็นฝูง มีหลายชนิด เช่น เป็ดหอม หรือ เป็ดหางแหลม (Anas acuta) เป็ดลาย (A. querquedula) เป็ดแดง (Dendrocygna javanica).

เป็ดผี

หมายถึงน. ชื่อนกชนิด Tachybaptus ruficollis ในวงศ์ Podicipedidae ปากแหลม นิ้วตีนแผ่ออกเป็นแผ่นแบนเป็นช่วง ๆ จากโคนถึงปลายนิ้ว แต่ละนิ้วแยกกัน ไม่ติดเหมือนตีนเป็ด บินได้ในระยะทางสั้น ๆ มักลอยอยู่ในนํ้า หากินตามบึงหรือบริเวณที่มีพืชนํ้าจำนวนมาก ดำนํ้าได้เหมือนเป็ด เป็นนกซึ่งคล้ายเป็ด.

กระชอน

หมายถึงน. ชื่อแมลงชนิด Gryllotalpa orientalis ในวงศ์ Gryllotalpidae ลำตัวยาว ขนาดย่อมกว่านิ้วก้อยเล็กน้อย สีนํ้าตาล ปีกสั้น บินได้ในระยะใกล้ ขาคู่หน้าสั้นแบน รูปร่างคล้ายอุ้งมือ ปลายมีหนามแข็ง ใช้ขุดดิน อาศัยอยู่ในดิน กินรากพืชและแมลงเล็ก ๆ.

กะปูด

หมายถึงน. ชื่อนกในวงศ์ Centropodidae ขนปีกสีนํ้าตาลแดง ลำตัวสีดำ ร้องเสียง “ปูด ๆ” เดินหรือวิ่งหากินตามพื้นป่าโปร่ง บินได้ในระยะทางสั้น ๆ มี ๓ ชนิด คือ กะปูดใหญ่ (Centropus sinensis) กะปูดเล็ก (C. bengalensis) และกะปูดนิ้วสั้น (C. rectunguis), ปูด ก็เรียก, พายัพเรียก ก้นปูด.

ไก่ฟ้า

หมายถึงน. ชื่อนกขนาดกลางในวงศ์ Phasianidae ตัวโตขนาดไก่บ้าน ขาและปากแข็งแรงมาก ตัวผู้มีหางยาว สีสันสวยงามกว่าตัวเมีย บินเก่งแต่ในระยะทางสั้น ๆ ทำรังบนพื้นดิน กินเมล็ดพืช ผลไม้สุก และแมลง มีหลายชนิด เช่น ไก่ฟ้าหลังขาว (Lophura nycthemera) พญาลอ หรือ ไก่ฟ้าพญาลอ (L. diardi).

เป็ดก่า

หมายถึง(ถิ่น-อีสาน) น. ชื่อนกเป็ดนํ้าชนิด Cairina scutulata ในวงศ์ Anatidae หัวและคอสีขาวประดำ อกสีเขียวเกือบดำ ทำรังในโพรงไม้ริมลำธาร มักเกาะนอนบนต้นไม้สูง ๆ เวลาบินจะเห็นแถบสีขาวที่ปีกได้ชัดเจน เป็นนกเป็ดนํ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย.

ตุ๊กแก

หมายถึงน. ชื่อสัตว์เลื้อยคลานในวงศ์ Gekkonidae หัวโต หางยาว หลายชนิดตีนเหนียวสามารถเกาะตามผนังเรียบได้ หลายชนิดร้องเสียงดัง ออกหากินในเวลากลางคืน ในประเทศไทยมีหลายชนิด เช่น ตุ๊กแกที่พบตามบ้านเรือน (Gekko gecko) ตุ๊กแกบินหางเฟิน (Ptychozoon lionatum), พายัพเรียก ต๊กโต, อีสานเรียก กับแก้. ว. มีลวดลายเป็นดอกดวงเลอะเทอะ เช่น ผ้าลายตุ๊กแก ตัวลายเป็นตุ๊กแก.

เกาะ

หมายถึงก. จับหรือยึดสิ่งใดไว้เพื่อทรงอยู่ เช่น นกเกาะกิ่งไม้ แมงมุมเกาะฝา, เอาสิ่งมีขอเป็นต้นเกี่ยวเข้ากับสิ่งอื่นเพื่อให้ติดอยู่ เช่น เอาขอเกาะต้นไม้, โดยปริยายหมายความถึงอาการที่เข้าไปติดแน่นอยู่ เช่น ปลิงเกาะ หรือเข้าเป็นหมู่หรือกลุ่มเดียวกัน เช่น ดินเกาะเป็นก้อน บินเกาะหมู่ วิ่งเกาะกลุ่ม; ไปเอาตัวมาโดยอำนาจศาลเป็นต้น เช่น ไปเกาะตัวมา.

กระสา

หมายถึงน. ชื่อนกในวงศ์ Ciconiidae ขนาดใหญ่เกือบเท่านกกระเรียน ปากหนายาวปลายแหลมตรง คอและขายาว เวลาบินคอจะยืดตรงเหมือนนกกระเรียน ทำรังด้วยกิ่งไม้อยู่บนยอดไม้สูง ๆ กินปลาและสัตว์นํ้าขนาดเล็ก ในประเทศไทยมีหลายชนิด เช่น กระสาขาว (Ciconia ciconia) กระสาคอดำ (Ephippiorhynchus asiaticus).

อีแอ่น

หมายถึงน. ชื่อนกขนาดเล็กในวงศ์ Apodidae, Hemiprocnidae, Hirundinidae และ Artamidae ตัวสีนํ้าตาลหรือดำ ปลายปีกแหลม ใช้เวลาส่วนใหญ่บินโฉบแมลง มักอยู่รวมกันเป็นฝูง มีหลายชนิด เช่น อีแอ่นบ้าน (Hirundo rustica) อีแอ่นตะโพกแดง (H. daurica) ในวงศ์ Hirundinidae อีแอ่นตาล (Cypsiurus balasiensis) ในวงศ์ Apodidae ชนิดที่นำรังมากินได้ เช่น อีแอ่นกินรัง (Collocalia fuciphaga หรือ Aerodramus fuciphagus) ในวงศ์ Apodidae, นางแอ่น หรือ แอ่นลม ก็เรียก.

คุ่ม

หมายถึงน. ชื่อนกขนาดเล็กหลายชนิดในวงศ์ Turnicidae และ Phasianidae ตัวกลม หางสั้น หากินตามพื้นดิน บินได้ในระยะทางสั้น ๆ วงศ์แรกตีนมี ๓ นิ้ว ตัวผู้กกไข่ มี ๓ ชนิด คือ คุ่มอืดเล็ก (Turnix sylvatica) คุ่มอืดใหญ่ (T. tanki) และคุ่มอกลาย (T. suscitator) วงศ์หลังตีนมี ๔ นิ้ว มี ๓ ชนิด คือ คุ่มสี (Coturnix chinensis) คุ่มอกดำ (C. coromandelica) และคุ่มญี่ปุ่น (C. japonica).

 คำในภาษาไทย จัดกลุ่มตามตัวอักษร ก-ฮ